2009年3月13日金曜日

ภาพรวมเศรษฐกิจของมณฑลยูนนาน

สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ในปี 2545 GDP ของมณฑลยูนนาน เท่ากับ 223,200 ล้านหยวน (1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 8.19 หยวนโดยประมาณ) เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ร้อยละ 8.1 รัฐบาลมณฑลยูนนานมีนโยบายที่จะรักษาอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2546 ในระดับร้อยละ 7.5 อัตราเงินเฟ้อในปี 2541 เฉลี่ยประมาณร้อยละ -0.8 รายได้ด้านการคลังของมณฑลยูนนานจนถึงปี 2545 เท่ากับ 40,000 ล้านหยวน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยูนนานเริ่มกลายเป็นมณฑลที่ส่งรายได้ให้รัฐบาลกลางนับพันล้านหยวน หลังจากที่ในอดีตเคยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อการพัฒนามณฑลปีละไม่ต่ำกว่าพันล้านหยวน

ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบทนับเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ ของยูนนาน ปัจจุบัน คนยากจนในยูนนาน (มีรายได้สุทธิไม่ถึง 300 หยวนต่อปี) มีอยู่มากกว่า 4.4 ล้านคน (ประมาณร้อยละ 10 ของคนยากจนทั่วประเทศจีน) ซึ่งกระจายอยู่ใน 73 อำเภอ/เมือง (จากจำนวน 128 อำเภอ/เมืองทั่วมณฑล) ในการนี้ รัฐบาลมณฑลยูนนานได้กำหนดเป้าหมายที่จะเร่งขจัดปัญหาความยากจนของคนเหล่านี้ ให้ได้ภายใน 7 ปี (ระหว่างปี

2537-2543) ด้วยเงินงบประมาณ 7,000 ล้านหยวน (ประมาณ 823 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)ภายใต้โครงการช่วยเหลือคนจน (Help-The-Poor) ซึ่งในการแถลงต่อสภาประชาชนชุดที่ 10 เมื่อเดือน มกราคม 2546 นายสู หรงข่าย ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน แจ้งว่า ได้บรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนดังกล่าวได้ โดยประชาชนประมาณ 4 ล้านคน ได้รับการแก้ไขปัญหาความยากจน มีอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องนุ่งห่มตามความจำเป็น รายได้ต่อหัวของประชาชนในชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 และรายได้ต่อหัวของประชาชนในเขตเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 อัตราการว่างงานในเขตเมืองอยู่ในระดับร้อยละ 4 เศรษฐกิจของยูนนานมีความผูกพันกับประเทศเพื่อนบ้าน และในปัจจุบันยูนนานมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเกือบเทียบเท่าประเทศสมาชิกอา เซียนส่วนใหญ่ภายหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชีย และอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า



มณฑลยูนนานนับเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์นานาชนิดจำนวนมาก จนได้รับสมญานามว่า "อาณาจักรแห่งพันธุ์ไม้" และ "อาณาจักรแห่งสัตว์" และยังมีแหล่งพลังงานทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและพลังความร้อนจากถ่านหิน รวมทั้งมีแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยวมากมาย ทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญของยูนนาน ได้แก่ ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก เหล็กและเหล็กกล้า ฟอสฟอรัส ถ่านหิน ทองแดง ฯลฯ ผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าว ใบยาสูบ ยางพารา อ้อย ใบชา สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ป่าไม้ ฯลฯ ผลิตผลทางอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ โลหะไม่เป็นสนิม (Non-Ferrous Metal) อุตสาหกรรมฟอสฟอรัส พลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมหล่อโลหะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ป่าไม้ อุตสาหกรรมผลิตบุหรี่ น้ำตาล ใบชา ยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมไฟฟ้า ฯลฯ

มณฑลยูนนานมีอาณาเขตทางบกติดต่อกับ 3 ประเทศ คือ เวียดนาม ลาวและพม่า โดยมี 27 อำเภอใน 8 เขต/เมืองของมณฑลยูนนานที่มีพรมแดนติดกับ 3 ประเทศดังกล่าว

นอกจากนี้ มณฑลยูนนานยังอยู่ห่างจากประเทศไทยเพียงประมาณ 250 กิโลเมตร ในอดีต ยูนนานได้ชื่อว่าเป็น "เส้นทางสายไหมตอนใต้" (Southern Silk Road) และปัจจุบันมณฑลยูนนานนับเป็นมณฑลหลักสำคัญทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน (5 มณฑล ได้แก่ มณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว เขตปกครองตนเองกวางสี และเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งมีพื้นที่รวม 2.57 ล้านตารางกิโลเมตร และประชากรรวม 230 ล้านคน) ในการติดต่อกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ซึ่งทั้ง 2 ภูมิภาคในเอเชียนี้มีประชากรรวมกันกว่า 1,000 ล้านคน

ปี 2528 มณฑลยูนนานได้กำหนดให้ 27 เมือง/อำเภอ เป็นเขตติดต่อการค้าชายแดน เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านในการติดต่อกับต่างประเทศ ปัจจุบัน มณฑลยูนนานมีเมืองท่าเปิดระดับชาติ 10 แห่ง แบ่งเป็นเมืองท่าสนามบิน 2 แห่ง ได้แก่ นครคุนหมิงและเมืองเชียงรุ่ง เมืองท่าทางน้ำ 2 แห่งได้แก่ เมืองซือเหมา และเมืองเชียงรุ่ง และเมืองท่าทางบก 6 แห่ง ได้แก่ เมืองรุ่ยลี่ หว่านติง เหอโข่ว ม่อฮาน (บ่อหาน) เทียนเป่า จินสุ่ยเหอ นอกจากนี้ ยังมีเมืองท่าระดับมณฑล 8 แห่ง ได้แก่ เมืองเพี่ยนหม่า (เขตนู่เจียง) อิ๋งเจียงและจางเฟิ่ง (เขตเต๋อหง) หนานส่าน ในอำเภอเจิ้นคัง และเมิ่งติ้ง ในอำเภอเกิ๋งหม่า (เขตหลินชาง) เมิ่งเหลียน (เขตซือเหมา) เถิงชง (เขตเป่าซาน) ต้าลั่ว (เขตสิบสองปันนา) และมีเส้นทางการติดต่อด้านการค้าส่งออกมากกว่า 100 เส้นทาง ทั้งนี้ นักธุรกิจต่างประเทศที่ลงทุนในเมืองท่าเปิดระดับชาติดังกล่าว จะได้รับสิทธิพิเศษเช่นที่ได้รับในเขตเมืองเปิดตามมณฑลชายฝั่งตะวันออกของจีน

0 件のコメント: